ปฏิวัติโลกอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (INDUSTRY 4.0)


Posted 14 Dec 2016 16:13 | 5,865 views

หลายปีมานี้มีการพูดถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ ซึ่งถูกเรียกว่า ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ INDUSTRY 4.0 ซึ่งมันจะเป็นวิธีการใหม่ๆ ของการผลิตที่จะเข้ามาพลิกโฉมหน้าวงการอุตสาหกรรม

             การก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 จะมีเทคโนโลยีอัจฉริยะต่าง ๆ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ อาทิ เครื่องจักรกลที่คิดได้และสื่อสารเป็น 3D Printing ที่สามารถเปลี่ยนจินตนาการให้เป็นวัตถุของจริงที่จับต้องได้ หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานร่วมกับมนุษย์เสมือนเป็นเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง นอกจากนั้น ยังมีเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ Information Technology: IT ที่จะเข้ามาเป็นตัวกลางที่ทำให้การสื่อสารระหว่างคนกับเครื่องจักร และระหว่างเครื่องจักรด้วยกันเองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เทคโนโลยีดังกล่าวนี้เอง ที่จะทำให้รูปแบบการผลิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เพื่อประสิทธิภาพการผลิตและเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค

               สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะพลิกโฉมหน้าการผลิตไปมากน้อยเพียงใด เทคโนโลยีอัตโนมัติรวมถึงหุ่นยนต์อัจฉริยะจะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างไรกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งนี้ และประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมที่หลากหลายแห่งหนึ่งของโลกควรปรับตัวและพัฒนาไปในทิศทางใด มีความท้าทายและโอกาสอะไรที่รอเราอยู่บ้าง เราขอนำท่านไปรับฟังแนวคิดเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมและแนวทางของอุตสาหกรรมไทยในการรับมือการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทั้งจากภาควิชาการและภาคธุรกิจ ติดตามได้ใน Vertical Scoop ฉบับนี้

ทำความรู้จักกับ อุตสาหกรรม 4.0

กว่าจะมาเป็น อุตสาหกรรม 4.0

ย้อนอดีตไปราว 230 ปีก่อน โลกของเราเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นเป็นครั้งแรก และมีการเปลี่ยนแปลงครั้งที่สอง และสาม มาเรื่อย ๆ จนกระทั้งมาถึงครั้งที่สี่ในปัจจุบัน แต่ละยุคสมัยมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอะไรบ้าง เราจะพาท่านไปรู้จักอย่างละเอียด

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 (Industrial Revolution 1.0)เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1784 คือ ยุคของการใช้พลังงานจากน้ำ (Hydro Power) แทนการใช้แรงงานคน หรือสัตว์ หรือพลังงานธรรมชาติ เป็นยุคที่เริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งมีการใช้พลังงานไอน้ำจากถ่านหินในกลุ่มอุตสาหกรรมทอผ้า กังหันน้ำที่สร้างพลังงานสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ หรือการใช้ไอน้ำในรถไฟหัวจักรไอน้ำ เป็นต้น

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 (Industrial Revolution 2.0)เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1870 เป็นการเปลี่ยนจากการใช้เครื่องจักรไอน้ำ มาใช้พลังงานไฟฟ้าส่งผลให้สามารถปลดปล่อยพลังการผลิตอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เปลี่ยนแปลงระบบการผลิตมาเป็นระบบโรงงาน ทำให้เกิดการผลิตสินค้าคราวละมาก ๆ และมีคุณภาพที่เทียบเท่างานหัตถกรรม ที่สำคัญคือ สินค้าราคาไม่แพง ทุกคนสามารถบริโภคได้ ทำให้เกิดกระแสบริโภคนิยมไปทั่วโลก

          การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3  (Industrial Revolution 3.0)เกิดขึ้นในปีค.ศ. 1969 เป็นยุคของการใช้อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีไอทีในการผลิต มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตและระบบบริหารจัดการด้านคุณภาพ มีการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ในการผลิต แทนที่แรงงานคน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง

          การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4  (Industrial Revolution 4.0) คือการนำเทคโนโลยีดิจิตัลและอินเทอร์เน็ต มาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า จุดเด่นที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือสามารถเชื่อมความต้องการของผู้บริโภคแต่ละรายเข้ากับกระบวนการผลิตสินค้าได้โดยตรง พูดง่ายๆ ก็คือ โรงงานยุค 3.0 สามารถผลิตของแบบเดียวกันจำนวนมากในเวลาสั้นๆ แต่โรงงานยุค 4.0 จะสามารถผลิตของหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคแต่ละราย เป็นจำนวนมากในเวลาพริบตาเดียว โดยใช้กระบวนการผลิตที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิตัลครบวงจร แบบ ‘Smart Factory’

ลักษณะของอุตสาหกรรม 4.0

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะเป็นการบูรณาการโลกของการผลิตเข้ากับการเชื่อมต่อทางเครือข่ายในรูปแบบ ‘Internet of Things (IoT)’ ทุกหน่วยของระบบการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบ เครื่องจักร เครื่องมืออุปกรณ์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์หน่วยต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกติดตั้งระบบเครือข่ายเพื่อให้สามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยน ข้อมูลซึ่งกันและกันอย่างอิสระ เพื่อการจัดการกระบวนการผลิตทั้งหมด

      จุดเด่นของอุตสาหกรรม 4.0 คือการที่เครื่องจักรหรือระบบอัตโนมัติสามารถเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเครือข่ายผ่ายอินเตอร์เน็ต จึงสามารถแบ่งปันข้อมูลข่าวสารถึงกันหมด รวมทั้งสามารถใช้ทรัพยากรบางส่วนร่วมกันได้ เครื่องจักรกลสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 จะมีความสามารถที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งในด้านการทำงานด้วยตนเอง ความยืดหยุ่นและการปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขการผลิต มีความสามารถในการตรวจสอบและคาดการณ์ล่วงหน้าได้ นอกจากนี้ เครื่องจักรในอนาคตจะมีโปรแกรมสำหรับตรวจสอบและดูแลสุขภาพของเครื่องจักร เพื่อยืดอายุการทำงานของเครื่องจักร อันจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการวางแผนการผลิตและประเมินประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องจักร กล่าวคือ เครื่องจักรจะมีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้นนั่นเอง

          นอกจากตัวเครื่องจักรที่เป็นอัจฉริยะแล้ว โรงงานในยุค 4.0 ก็จะมีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้นด้วย โดยที่โรงงานอัจฉริยะ หรือ Smart Factory จะสามารถกำหนดระบุกิจกรรมเงื่อนไขรวมทั้งสภาพแวดล้อมของการผลิต สามารถสื่อสารกับหน่วยอื่น ๆ ได้อย่างอิสระแบบไร้สาย สามารถผลิตสินค้าตามคำสั่งโดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น เวลา ต้นทุนการผลิต ค่าขนส่ง การรักษาความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ เป็นระบบการผลิตที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด

บทบาทเทคโนโลยีออโตเมชั่น กับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในยุค 4.0

จุดเด่นของ อุตสาหกรรม 4.0 คือ การพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารกับเครื่องจักรและระบบ ในลักษณะ Industrial automation เพื่อผลิตสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภครายบุคคล แต่ยังรักษาประสิทธิภาพการผลิตที่สูงในระดับเดียวกับการผลิตแบบคราวละมาก ๆ อาทิ การผลิตรถยนต์ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เทคโนโลยีการพิมพ์ 3D การพัฒนาระบบ smart grid การแพทย์สาขา telemedicine เป็นต้น

เทคโนโลยีออโตเมชั่น จึงกลายเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอย่างมากในยุคอุตสาหกรรม 4.0 นี้ สำหรับประเทศไทย ควรจะปรับตัวและนำเทคโนโลยีอัตโนมัติเข้ามาช่วยงานในการผลิตให้มากขึ้น และเหมาะสม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ 

รศ.พิชิต ลำยอง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่เป็นออโตเมชั่น มีส่วนช่วยในการลดต้นทุนด้านแรงงาน เนื่องจากระบบออโตเมชั่น สามารถเข้ามาทดแทนการทำงานบางอย่างของมนุษย์ได้ และให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีการนำระบบออโตเมชั่นมาใช้งานแล้วตลอดหลายสิบปีที่ผ่าน แต่เป็นไปในลักษณะการใช้งานเฉพาะบางส่วน ไม่ใช่เต็มรูปแบบ นอกจากนั้น ประเทศไทยยังไม่มีศักยภาพเพียงพอถึงขั้นที่จะสามารถผลิตเทคโนโลยีใช้งานได้เอง และถึงแม้จะมีการวิจัยและพัฒนาอย่างมากมายแต่ก็ยังไม่สามารถนำมาปรับใช้เพื่ออำนวยความสะดวกได้อย่างเต็มรูปแบบจริงจัง และไม่สามารถนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงได้

          รศ.พิชิต ให้มุมมองว่า สำหรับประเทศไทย ยังอาจต้องใช้เวลาอีกยาวนานตราบใดที่คนไทยยังไม่สามารถผลิตเทคโนโลยีได้เอง เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด สาระสำคัญอยู่ที่ว่า เราต้องมองให้ออกว่าโลกทุกวันนี้มีเทคโนโลยีอะไรที่เราสามารถหยิบมาใช้งานกับการผลิตของเราบ้าง และเรามีจุดเด่นอะไรที่สามารถต่อยอดให้ถึงขีดสุดได้บ้าง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของเศรษฐกิจและสังคม

          นอกจากนั้นแล้ว การนำระบบอัตโนมัติมาใช้งานยังต้องรู้จักเลือกใช้ในงานที่สามารถต่อยอดและเป็นจุดเด่นของประเทศ สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมที่ถือเป็นจุดเด่นของเราคือ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เราจึงควรผลักดันนำเอาระบบอัตโนมัติเข้าไปพัฒนากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมนี้ให้มากขึ้น ตั้งแต่กระบวนการผลิต ลำเลียงวัตถุดิบ การบรรจุหีบห่อ และการขนส่ง เป็นต้น

           “ออโตเมชั่น ไม่จำกัดอยู่เพียงในมิติของการผลิตเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ถูกนำไปใช้งานในหลากหลายภาคอุตสาหกรรม อาทิ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า แม้แต่ด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะประเทศไทย มีศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ก็มีความจำเป็นต้องนำออโตเมชั่นมาใช้กับการผลิตของภาคอุตสาหกรรมการเกษตรให้มากขึ้น ประเทศเราควรนำเอาออโตเมชั่นมาใช้งานกับการเกษตรอย่างชาญฉลาด ให้ครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการปลูก การเก็บเกี่ยว การผลิต แปรรูป การบรรจุหีบห่อ การขนส่ง เป็นต้น เรียกว่า เป็นการนำระบบออโตเมชั่นมาใช้ให้ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ” รศ.พิชิต กล่าว

           หากเราไม่ใช้เทคโนโลยีออโตเมชั่นเข้ามาช่วยในการผลิต เราจะไม่สามารถขับเคลื่อนศักยภาพของประเทศ ไปสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าระดับโลกได้ เราต้องมองข้ามการผลิตสินค้าสำหรับบริโภคเฉพาะในระดับประเทศหรือระดับภูมิภาคแต่ต้องมองไปให้ไกลให้สินค้าเป็นสินค้าที่คนทั่วโลกต้องใช้ เราต้องเข้าใจว่าความสามารถและศักยภาพของเราว่าเหมาะสมกับด้านไหน เก่งด้านไหน และสามารถนำออโตเมชั่นมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร เป็นการดึงศักยภาพที่แท้จริงของประเทศไทยมาพัฒนาโดยใช้ออโตเมชั่นเป็นเครื่องมือ สรุปคือ ภาคอุตสาหกรรมไทยก็ต้องพึ่งพาออโตเมชั่นในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และที่สำคัญคือเพื่อเป็นการลดปัญหาด้านต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นในปัจจุบัน

เสียงจากผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีออโตเมชั่น พลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0

หากจะว่ากันไปแล้ว ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยของเรามีการนำระบบอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้ในสัดส่วนที่น้อยมาก ซึ่งเทคโนโลยีส่วนใหญ่ที่เราใช้กันอยู่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แม้กระนั้น ก็ยังมีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องการพยายามนำระบบอัตโนมัติมาสู่การพัฒนาประเทศในภาคส่วนต่างๆ ซึ่งเราได้ไปสัมภาษณ์ผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวข้องกับระบบอัตโนมัติ 2 รายด้วยกัน โดยทั้ง 2 ท่าน ได้พูดถึงแนวโน้มในอนาคตของวงการออโตเมชั่น และบทบาทต่อการขับเคลื่อนประเทศในมิติต่างๆ ดังนี้

คุณดุษฎีศักดิ์ สติวินัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นดี อิเลคทริค จำกัด ผู้นำเข้าและจำหน่ายระบบออโตเมชั่นด้านความปลอดภัย (Safety Automation) เป็นหลัก โดยผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าและจำหน่าย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ แบรนด์ PILZ ระบบควบคุมอัตโนมัติจากเยอรมนี เป็นผลิตภัณฑ์ควบคุมความปลอดภัยระบบอัตโนมัติที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมที่สุดแบรนด์หนึ่งของโลก สามารถสั่งการและควบคุมการปฏิบัติงานของโรงงานได้ทั้งระบบนอกจากนั้นยังสามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย มิใช่เพียงในโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น ระบบอัตโนมัติดังกล่าว ยังถูกนำไปใช้ในระบบของสนามบิน ระบบควบคุมไฟฟ้าในอาคาร ระบบเตือนเหตุไฟไหม้ การขนส่งระบบราง เป็นต้น

 คุณดุษฎีศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับเทรนด์ในอนาคต ระบบความปลอดภัยจะถูกนำมาเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องใส่ใจมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการเสรีอาเซียน แรงงานมีการถ่ายโอนและเคลื่อนย้ายมากขึ้น จะมีผลต่อความปลอดภัยและจำเป็นต้องพึ่งพาระบบอัตโนมัติที่มีความเสถียร มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

เชื่อว่าผลิตภัณฑ์ระบบอัตโนมัติจะเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในอุตสาหกรรมบ้านเรา อนาคตเราคงไม่เห็นภาพที่มีคนงานนั่งเรียงกันรับช่วงงานกันเป็นจำนวนมาก แต่จะใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทน” คุณดุษฎีศักดิ์ กล่าว

คุณศักดา สารพัดวิทยา ผู้จัดการ บริษัท ทรอปปิคอลเทค จำกัด บริษัทดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการวางระบบควบคุมอัตโนมัติ ปฏิบัติงานให้แก่อุตสาหกรรมระบบโครงสร้างพื้นฐานโครงการขนาดใหญ่ อาทิ สนามบิน รถไฟฟ้าใต้ดิน เป็นต้น กล่าวว่า โดยส่วนตัวมีประสบการณ์ด้านงานระบบออโตเมชั่นมายาวนาน ทั้งประสบการณ์การทำงานทั้งในและต่างประเทศ มีแนวคิดในการใช้วิธีส่งผ่านองค์ความรู้จากระดับโลก มาสู่การพัฒนาระดับประเทศ และนำการพัฒนาระดับประเทศไปต่อยอดและเผยแพร่ยังต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง จากประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ ทำให้เห็นขั้นตอนกระบวนการบริหารจัดการที่มีศักยภาพเหนือกว่าอุตสาหกรรมในบ้านเรา ทำให้ได้แนวคิดในการนำความรู้เรื่องไฟฟ้าและระบบควบคุมอัตโนมัติมาใช้กับอุตสาหกรรมบ้านเราให้มากขึ้น และวางตัวเองเป็นผู้ประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติกับอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานและระบบโรงงานอัตโนมัติ ปัจจุบัน บริษัทฯ มีขีดความสามารถในการส่งเสริมการทำงานของหน่วยงานใหญ่ๆ โดยมองตัวเองเป็นเหมือนแผนกออโตเมชั่นในบริษัทใหญ่ๆ นั้นๆ ทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมการทำงานขององค์กรเหล่านั้นให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ด้วยความฉลาดของระบบที่บริษัทฯ มี บวกกับความเชี่ยวชาญในสายงานต่างๆ ของทีมงาน อาทิ โรงงานไฟฟ้า ด้านการจัดการความปลอดภัย การจัดการด้านพลังงาน อาหาร โลจิสติกส์ เป็นต้น ทำให้สามารถผลักดันงานออโตเมชั่นไปสู่ภาคส่วนต่างๆ จึงอาจกล่าวได้ว่าออโตเมชั่นในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ได้แทรกซึมเข้าไปอยู่ในหน่วยของอุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ความพร้อมประเทศไทย ต่อการก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0

สำหรับประเทศไทย ที่ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจต้องตื่นตัวกับการปฏิรูปอุตสาหกรรมครั้งนี้ ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่า รัฐบาลเองพยายามที่จะสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิตัลมากขึ้น รวมทั้งขยายเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่งเสริม E-Commerce, E-Document และ E-Learning ซึ่งล้วนเป็นการวางรากฐานการพัฒนาสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 สำหรับคนไทยโดยการปรับเปลี่ยนและนำเอาเทคโนโลยีออโตเมชั่นมาใช้งานนั้น คงต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของอุตสาหกรรมในบ้านเรา และต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนไทยอีกด้วย

           คุณดุษฎีศักดิ์ กล่าวว่า โรงงานผู้ผลิตคนไทยยังไม่นิยมใช้งานระบบอัตโนมัติมากนัก เนื่องจากเห็นว่าเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูงและฟุ่มเฟือยเกินไป ทั้งที่จริงแล้ว การลงทุนระบบอัตโนมัติมีข้อดีหลายอย่าง เช่น ช่วยให้การตรวจสอบทำได้ง่ายและแม่นยำขึ้น มีความเสถียรมากขึ้น ใช้คนน้อยลง ก็จะสงผลให้ต้นทุนการผลิตลดน้อยลง ในขณะที่ประสิทธิภาพที่ได้สูงขึ้น

           ด้านคุณศักดา ให้ความเห็นว่า สำหรับเมืองไทยอาจยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะในการปรับตัวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ธรรมชาติของอุตสาหกรรมในบ้านเราเป็นอุตสาหกรรมที่ยังต้องพึ่งพาฝีมือแรงงานอยู่ไม่น้อย  การตัดสินใจใช้ระบบอัตโนมัติในการปฏิบัติงานแบบทั้งระบบอาจไม่เป็นผลดีเท่าที่ควร เนื่องจากอาจเป็นการลงทุนที่เกินความจำเป็น ของบางอย่างไม่จำเป็นต้องพึ่งระบบอัตโนมัติเสมอไป จึงควรนำปรับใช้เป็นแบบกึ่งอัตโนมัติน่าจะดีกว่า เพราะบริบทของอุตสาหกรรมในบ้านเรายังต้องการการทำงานที่ใช้ฝีมือ แต่อย่างไรก็ตาม ระบบออโตเมชั่นก็จะเหมาะกับบางระบบ เช่น ระบบที่ต้องการความแม่นยำสูงๆ ที่คนไม่สามารถทำงานได้ จึงต้องคำนึงถึงความเหมาะสมเป็นหลัก อาจใช้วิธีการบริหารจัดการรูปแบบอื่น ๆ และใช้ออโตเมชั่นมาเสริม เรามีบุคลากรที่มีคุณภาพอยู่แล้ว ควรที่จะนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับธรรมชาติของแต่ละองค์กรมากกว่า

           “สำหรับภาคการผลิต มีการลงทุนด้านระบบออโตเมชั่นด้วยเป้าประสงค์หลายประการ อาทิ ลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้ ลงทุนเพื่อลดรายจ่าย หากพิจารณาว่าการลงทุนนั้นสามารถตอบโจทย์ความต้องการทั้งสองประการข้างต้นได้ การลงทุนนั้นย่อมดีแน่นอน แต่อาจต้องวิเคราะห์เพิ่มว่า ระบบนั้นถ้านำมาใช้งานแล้วจะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนหรือไม่หรือจะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตพวกเขาเหล่านั้นมากกว่ากัน หากออโตเมชั่นสามรถมาทดแทนการทำงานของคน แล้วบริหารจัดการและพัฒนาให้คนๆ นั้นมีศักยภาพในการทำงานที่ดีขึ้น หรือพัฒนาไปสู่การทำงานในด้านอื่นที่เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับชีวิตเขา นับว่าเป็นสิ่งที่ดี เมื่อคนมีการพัฒนา ก็ส่งผลให้องค์กรได้มีขีดความสามรถเพิ่มขึ้นเป็นผลพลอยได้” คุณศักดา กล่าวเสริม

           “มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ควร” เป็นบทสรุปได้เป็นอย่างดีสำหรับอุตสาหกรรมบ้านเราหากจะต้องนำเอาระบบอัตโนมัติ หรือ ออโตเมชั่น มาใช้งาน สิ่งสำคัญอยู่ที่ “จุดตรงกลาง” กล่าวคือ จะต้องพิจารณาการใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติให้เหมาะสมกับบริบทของอุตสาหกรรมในประเทศ ใช้เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการผลิตให้ดีขึ้น แต่ต้องไม่กระทบต่อวิถีชีวิตของคนน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด



Credited: Blue Update Edition 16, Bangkokbiznews.com, Prachachat.net, tpemagazine.com

Created by: Chatchai